สถานการณ์ประเทศไทยปัจจุบัน เราพบว่ากลุ่มเด็กยากจนที่มีปัญหาพัฒนาการล่าข้าและเด็กพิเศษมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น เด็กออทิสติก( Autistic)
 
เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (LD) เป็นต้น โครงการเด็กพิเศษจึงได้นำเอาความรู้ด้านพัฒนาการเด็ก จิตวิทยา การศึกษาแบบมอนเตสชอรี่
 
การพัฒนาทักษะการคิด เป็นต้น มาใช้ในการจัดการศึกษาและเลี้ยงดู รวมถึงการออกแบบกิจกรรมและสภาพแวดล้อมให้กับเด็ก ๆ เหล่านี้
 
เพื่อบำบัดและฟื้นฟูให้พวกเขา ตลอดจนวางแผนส่งเสริมอาชีพในอนาคตที่มีความเหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพพนักงานผู้ดูแลเด็ก
 
ให้มีความรู้และมีทักษะในการช่วยเหลือเด็กพัฒนาการช้าและเด็กพิเศษ เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดำรงชีวิตอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
 

ประวัติความเป็นมา โครงการฟื้นฟูเด็กพิเศษ
และเด็กพัฒนาการช้า
 
 ประเทศไทยมีเด็กขาดโอกาสและยากจนจำนวนมากที่เป็นเด็กออทิสติก ดาวน์ซินโดรม ปัญญาทึบ ฯลฯ เด็กเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสังคมไทยซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีเด็ก “พิเศษ” ที่อาจจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ โดยเฉพาะถ้าพวกเขามีพ่อแม่ที่เป็นคนยากจน ที่ไม่สามารถจะเลี้ยงดูพวกเขาได้

  ปัจจุบัน มูลนิธิเด็กรับดูแลเด็กยากจนที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญว่าเป็นเด็กพิเศษมากกว่า 80 คน จากเด็กทั้งสิ้น 200 คน พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการรักษาและฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน และต้องการความใส่ใจดูแลเป็นพิเศษโดยเราตั้งความหวังไว้ว่า จะสามารถช่วยให้พวกเขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเดูแลตัวเองได้ และดำรงชีวิตได้เช่นคนอื่น ๆ  โดยไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม

ไม่อยากให้มองว่าพวกเขาแปลก แต่อยากขอโอกาสให้พวกเขา

จุดเริ่มต้น
โครงการเด็กพิเศษก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2561 โดยสถาบันวิชาการเพื่อเด็ก เด็กพิเศษ การศึกษา และครอบครัว มูลนิธิเด็ก เนื่องจากพบว่าประเทศไทยมีเด็กขาดโอกาสจำนวนมากที่เป็นเด็กพัฒนาการช้ากว่าวัยและเป็นเด็กพิเศษ แต่เนื่องจากการขาดความรู้ของพ่อแม่ผู้ปกครอง และครอบครัวมีฐานะยากจน ทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้เข้าการฟื้นฟูและส่งเสริมพัฒนาการอย่างถูกต้อง อันจะส่งผลต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาในอนาคต และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในที่สุด ปัจจุบันมูลนิธิเด็กได้รับเด็กเหล่านี้มาอยู่ในความดูแล และได้ทำการฟื้นฟูและส่งเสริมพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จนเด็กจำนวนหนึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และบางคนมีพัฒนาการตามวัย

การทำงานที่ผ่านมา
  เก็บข้อมูลและวางแผนครอบครัว สาเหตุหนึ่งของการเป็นเด็กพิเศษเริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์ เราจึงลงเยี่ยมครอบครัว เก็บข้อมูลการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดู และทำความเข้าใจกับครอบครัว พร้อมกับให้ความรู้กับครอบครัว หากวันหนึ่งพวกเขาพร้อมจะรับเด็กคืนกลับสู่ครอบครัว

การประเมินพัฒนาการเด็ก
  เรามีการประเมินพัฒนาการเด็กทุกคนที่จะเข้ามาอยู่ร่วมเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวมูลนิธิเด็ก เพื่อตรวจหาว่าเด็กมีพัฒนาล่าช้ากว่าวัยหรือไม่ และมีภาวะเด็กพิเศษหรือไม่ จากนั้นเราจะวางแผนการดูแลและรักษาพวกเขา และทำการประเมินทุก ๆ 6 เดือน เพื่อติดตามผลความก้าวหน้า พร้อมทั้งปรับปรุงการดูแลรักษาให้เหมาะสมกับพวกเขา

ห้องพัฒนาการเด็กและเด็กพิเศษ
  เราจัดทำห้องส่งเสริมพัฒนาการให้กับพวกเขา โดยใช้ความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กและกิจกรรมบำบัด กระบวนการหลัก ๆ ที่ใช้ เช่น การส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก การฝึกการทรงตัว การฝึกการเคลื่อนไหวและการประสมประสานการทำงานของประสาทรับความรู้สึก การฝึกทักษะชีวิต ทักษะทางอารมณ์ และทักษะทางสังคม รวมไปถึงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เป็นต้น การฝึกเหล่านี้ต้องใช้การฝึกฝนซ้ำ ๆ บ่อย ๆ  เด็กบางคนอาจใช้เวลาไม่กี่เดือน แต่บางคนต้องใช้เวลาเป็นปีหรือ 2 – 3 ปี กว่าจะมีพัฒนาการตามวัย หรือใกล้เคียงกับวัย

การฟื้นฟูและส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ
  เรายังได้พาเด็กพิเศษที่มีพัฒนาล่าช้ามาก ๆ ไปทำการบำบัดและฟื้นฟูกับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ อาทิ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้เป็นพิเศษ

ห้องเรียนมองเตสซอรี่และห้องพัฒนาทักษะการคิด
  แพทย์หญิงมาเรีย มองเตสซอรี่ ได้พัฒนาการเรียนการสอนแบบมองเตสซอรี่ด้วยการทำงานกับเด็กพิเศษ แม้ภายหลังจะมีคนนำเอามาใช้กับเด็กปกติก็ตาม ดังนั้นเราจึงทำห้องเรียนมองเตสซอรี่ โดยปรับใช้ทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษไปพร้อม ๆ กัน การให้เด็กพิเศษได้เรียนร่วมกับเด็กปกติ ไม่เพียงช่วยพัฒนาเด็กพิเศษ แต่ยังช่วยให้เด็กพิเศษได้เรียนรู้การปรับตัวเข้ากับเด็กคนอื่น ๆ  และยังทำให้เด็กอื่น ๆ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วม ช่วยเหลือ และเห็นอกเห็นใจเด็กพิเศษ เด็กที่แค่แตกต่างจากพวกเขา อันจะเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์อย่างมีสันติและไม่แบ่งแยก

  นอกจากนี้ เรายังนำเอาความรู้ใหม่ ๆ เรื่องสมอง เรื่อง EF และ NLP มาปรับใช้กับเด็ก ๆ และเด็กพิเศษด้วย โดยนำเอามาปรับใช้ร่วมกับมองเตสซอรี่ ส่งผลให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้เร็วขึ้นและเก่งขึ้น

การดูแลในชีวิตประจำวัน
  เด็กพิเศษจะมีปัญหาด้านอารมณ์ การสื่อสารกับคนอื่น และขาดทักษะชีวิต พวกเขาจึงต้องการการเอาใจใส่เป็นพิเศษ คนดูแลจึงต้องมีความละเอียดอ่อน และเรียนรู้วิธีดูแลและช่วยเหลือพวกเขาในชีวิตประจำวัน เราจึงจัดอบรมพัฒนาการเด็กและการทำงานกับเด็กพิเศษให้กับบุคลากรด้านเด็กทุกฝ่ายเป็นประจำทุกปี เพื่อให้น้อง ๆ อยู่ที่นี่อย่างมีความสุข มีคนเข้าใจ และมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

  นับแต่ปี 2561 มูลนิธิเด็กได้ริเริ่มโครงการเด็กพิเศษ และทำการฟื้นฟูและส่งเสริมพัฒนาเด็กขาดโอกาสที่เป็นเด็กพิเศษจนมีพัฒนาการตามวัยไปแล้วจำนวน 41 คน จากเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในเวลานั้นว่าเป็นเด็กพิเศษจำนวน 101 คน และยังดูแลเด็กพิเศษกลุ่มใหม่ ๆ ที่รับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ขอโอกาสให้พวกเขา ได้มีชีวิตเช่นเด็กปกติคนอื่น ๆ และไม่ต้องเป็นภาระของใคร ๆ
ร่วมกันดูแลพวกเขา
คือการร่วมกันดูแลสังคมของเรา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้