1. ความสนุกในวัยเรียนและวัยทำงานเป็นคนละแบบกัน วัยเรียนก็สนุกที่ได้อยู่กับเพื่อน ใช้ชีวิตวัยรุ่นตอนปลายให้คุ้มค่าที่สุด
สุดขีดสุด ๆ ในขณะที่วัยทำงานก็สนุกกับงาน สนุกกับการวางแผน
สนุกกับหลายเรื่องที่เข้ามาใหม่ ๆ แต่เหตุที่โดยรวมแล้ววัยเรียนสนุกกว่า
น่าจะเป็นเพราะว่าเป็นช่วงที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก
(อย่างน้อยก็ไม่ต้องคิดเรื่องรายได้ เพราะมีคนส่งเสียให้อยู่แล้ว
หรือไม่ก็มีเงินจากกองทุนกู้ยืมอยู่แล้ว)
2. ในวัยทำงานยังหนีไม่พ้นเรื่องการทดสอบ หรือการแก้โจทย์แต่ละวัน ที่เหนือไปกว่านั้นคือ
ต้องแก้โจทย์ที่คาดเดาไม่ได้เลยว่าจะมาแบบไหน เช่น
วันนี้จะได้เจอลูกค้าแบบไหน, เจ้านายจะอารมณ์ดีหรือไม่,
งานวันนี้จะผ่านหรือไม่ ซึ่งต้อง “แก้ให้ได้”
ไม่มีโอกาสให้แก้ตัวหรือสอบซ่อมเหมือนตอนเรียน
บางบริษัทยังมีการประเมินประจำเดือนหรือประจำปีเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของ
ตำแหน่งการงานอีกด้วย
3. เพื่อนในวัยเรียนกับเพื่อนในที่ทำงานแทบไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะการเริ่มต้นมองหา หรือการคบหากัน
เพียงแต่เพื่อนในวัยทำงานค่อนข้างเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องระมัดระวังมากกว่า
เพราะวัยนี้ใครก็ต่างคนต่างก็จริงจังกับภาระส่วนตัว ถ้าได้เพื่อนที่ดี
ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งที่จะคอยส่งเสริมช่วยเหลือกันทั้งในเรื่องการงานและ
เรื่องส่วนตัว แต่ถ้าได้เพื่อนแย่
บางทีอาจแย่มากจนขัดแข้งขัดขากันเองให้การงานเสียไปเลยก็ได้
4. ในวัยเรียน ถ้าไม่ชอบเพื่อนคนไหน ก็พอจะหลบได้ ไม่ชอบอาจารย์คนไหน ก็อาจย้ายเซคหนีได้ แต่ในการทำงาน เราจะต้องอยู่กับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานแต่ละชุด แต่ละวาระไปอีกยาววววว …
5. การโยกย้ายไม่ว่าจะเลื่อนตำแหน่งหรือเปลี่ยนงาน เป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ เหมือนกับการต้องลงทะเบียนเรียน
หรือจัดตารางสอบนั่นแหละ บอกไม่ได้ว่าอันไหนดีกว่ากัน
จนกว่าจะผ่านเวลาไปสักพักถึงจะตอบได้ว่าอันไหนคือตัวเรา
อันไหนไม่ใช่ตัวเราเลย
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางคนจะเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่นจนกว่าจะเจออะไรที่ใช่
แล้วอยู่กันไปยาว ๆ แม้ว่างานที่ใช่นั่นผลตอบแทนจะไม่สูงมากก็ตาม
6. มุมมองความรักในวัยทำงานจะเป็นมุมมองที่โตขึ้น เพราะเริ่มมองถึงอนาคตมากขึ้น ในวัยเรียนอย่างมากก็แค่เลิกกันแล้วหาใหม่
เป็นสีสันชีวิตกันไป แต่ในวัยทำงาน ถ้าจะมีใครสักคนเข้ามา
นอกจากทัศนคติที่เข้ากันได้ก็ต้องมีบ้างที่มองไปถึงโปรไฟล์ที่มั่นคงกว่านี้
(อาชีพ, ฐานะ)
7. ในวัยเรียน ถ้าเสียใจมาก ๆ อาการหนักสุดก็แค่โดดเรียน เดี๋ยวก็มีเพื่อนตามจิก แต่ในวัยทำงาน ด้วยภาระหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบ
ทั้งเรื่องงาน เรื่องครอบครัว ความเสียใจที่มีขึ้นจึงต้องสั้นที่สุด
และเข้มแข็งให้มาก
8. ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในวัยทำงานคือ เรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคนรอบตัวที่เคยรู้จัก เพื่อนบางคนเริ่มแต่งงานแล้ว
เพื่อนบางคนมีลูกแล้ว
หรือแม้กระทั่งข่าวการเสียชีวิตก็จะเริ่มเห็นมาเรื่อย ๆ จนรู้สึกปลงมากขึ้น
9. เพราะวัยทำงานเป็นโลกนอกมหาวิทยาลัย หลายเรื่องที่เคยรู้เคยเห็นจึงไม่เป็นอย่างที่เคยรู้เคยเห็นเสมอไป
บางเรื่องที่เราเคยมองว่าแย่มาก ๆ ในวัยเรียน
เมื่อเห็นโลกมากขึ้นก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา
อะไรที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีในวัยเรียน เราเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น
จนรู้สึกไม่แน่ใจแล้วว่าที่เรียนมานั้นถูกต้องจริงหรือ ?
10. ในวัยเรียนอาจสนใจแค่ตำราและความบันเทิง แต่ที่เพิ่มเติมมาในวัยทำงานก็คือ การติดตามข่าวสารที่จริงจังมากขึ้น
เรื่องความบันเทิงอาจอยู่ในระดับที่ไม่มากมายเท่าปัญหาบ้านเมือง
ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่ารายรับรายจ่ายที่เราเป็นอยู่
ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระดับประเทศด้วย
11. วัยเรียน โลกของเรามักมีเพื่อนเป็นใหญ่ ในขณะที่วัยทำงาน เริ่มมองเห็นความสำคัญของครอบครัวเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะครอบครัวเดิมของตัวเอง
หรือการออกไปสร้างครอบครัวใหม่ แต่ก็ใช่ว่าไม่ต้องการเพื่อนเสียเลย
ตรงกันข้าม กลับรู้สึกเหงากว่าแต่ก่อน
เพราะจะสุขจะทุกข์แต่ละทีก็หาเวลาตรงกันกับเพื่อนไม่ได้มากมายอะไร
คนในครอบครัวนี่แหละใกล้สุดและดีที่สุดแล้ว
12. ในวัยทำงานเริ่มซีเรียสเรื่องการวางแผนทางการเงินมากขึ้น ถึงขั้นกับวางแผนการลงทุนในส่วนต่าง ๆ เช่น ประกันสุขภาพ, กองทุนรวม,
หุ้น, อสังหาริมทรัพย์ อะไรที่พอจะเป็นแหล่งรายได้ หูตาไวมากเท่าใด
ยิ่งได้เปรียบมากเท่านั้น
13. วัยเรียนเป็นวัยที่เร่งวันเวลาให้เติบโตมากขึ้น ในขณะที่วัยทำงานเป็นวัยที่ต้องการใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่ามากขึ้น เพราะจะมีสารพัดอย่างเข้าในความคิด ทั้งความรับผิดชอบในปัจจุบัน,
สิ่งที่อยากทำแต่ไม่มีเวลาได้ทำซะที, สิ่งที่ต้องการจะวางแผนในอนาคต — 24
ชั่วโมงของวัยทำงานจึงดูเหมือนว่ามันน้อยเกินไปจริง ๆ
ไม่ว่าจะตอนนี้คุณเป็นใคร ทำอะไรอยู่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกไว้คือ
“ความคุ้มค่าของชีวิต” ไม่มีประโยชน์ที่เราจะต้องเสียดายอดีต
ไม่ต้องกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”
เป็นอันเพียงพอแล้ว : )
บทความดีดีจาก :https://www.jeeb.me/556?share
|