สมุดบันทึกนิทานของมูลนิธิเด็กเล่มใหม่ ปี ๒๕๖๖

931 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สมุดบันทึกนิทานของมูลนิธิเด็กเล่มใหม่ ปี ๒๕๖๖

Diary 2566

วิถีมูลนิธิเด็ก
วิถีแห่งจินตนาการ

ประวัติศาสตร์นั้นมีหลายด้าน ด้านหนึ่งคือภาพของ ”จินตนาการ” ที่เราไม่สามารถเรียนรู้ในข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด ถึงแม้จะเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นๆมากน้อยเพียงใดก็ตาม

เหมือนที่ Albert Einstien ว่าไว้ไม่ผิด

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

แต่ความรู้ก็เป็นฐานให้จินตนาการก้าวไปต่อได้โดยการอ่าน

เหมือนดังคำของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ว่าไว้

“ถ้านายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร”

สมุดบันทึกนิทานไดอารี่ของมูลนิธิเด็ก ปี ๒๕๖๖ ได้หวนกลับไปสู่เหตุการณ์เมื่อ ๕๐ ปีก่อน คือเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ที่ “นักเรียน คนหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษาและประชาชน” พร้อมลุกขึ้นสู้ต่อต้านกลุ่มเผด็จการทหาร “ สามทรราช”

เราจึงนำเสนอ ด้วยจินตนาการและการอ่าน ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ในไดอารี่เล่มนี้

จินตนาการของกวีซีไรท์และศิลปินแห่งชาติ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” มาร่ายบทกวี “เพียงความเคลื่อนไหว” ไปกับภาพเขียนของ “เทพศิริ สุขโสภา” ศิลปินแห่งชาติ (ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเด็ก เมื่อ ๔๔ ปีก่อน)กับเหล่านักวาดน้อยจากหมู่บ้านเด็ก และศิลปินอิสระ”กบ” ที่มาร่วมเขียนภาพไปตามจินตนาการอันเสรี ดุจนกพิราบน้อย ที่เรียกว่า “เสรีแห่งพิราบ”

“เสรีภาพ” ที่ได้มาเมื่อ ๕๐ ปี ทำให้เราสร้าง”หมู่บ้านเด็ก” ให้เป็นดินแดนเสรี ที่วันนี้ได้ชื่อว่าเป็น ”ดินแดนแห่งเสรีภาพ” เป็นเส้นทางให้เด็กของเราเติบโตบนเส้นทางสายนี้มาโดยตลอด

ถึงแม้เสรีภาพในสังคมใหญ่นั้นจะถูกบั่นทอนเป็นระยะๆ ด้วยการรัฐประหารของเหล่าทหารแห่งรัฐ หลายครั้งหลายครา ตลอดระยะเวลา ๙๐ ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่คนรุ่นใหม่ทุกรุ่น รุ่นแล้วรุ่นเล่า ก็ส่งต่อจิตใจแห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ อย่างไม่ท้อถอย จนถึงเหตุการณ์ “พฤษภา ๓๕” เหมือนเช่นคนหนุ่มสาวเสรีในภูมิภาคนี้

จากกวางจู จากจตุรัสเทียนอันเหมิน จากฮ่องกง จากจาการ์ตา จากมนิลา จากย่างกุ้ง จนถึงโคลัมโบ

วันนี้ ถึงแม้คนหนุ่มสาวจะเสียชีวิตดุจใบไม้ร่วง ก็ต้องนำพาไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนให้จงได้

มูลนิธิเด็ก ตัดสินใจนำนิทานประวัติศาสต์ในจินตนาการ ในสองเหตุการณ์ เพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้เข้าใจ ในขบวนการเสรีภาพที่ได้มา ถึงแม้คนรุ่นใหม่ในแต่ละรุ่น และนักวิชาการ จะตีความประวัติศาสตร์แตกต่างกันในประเด็นการเมือง ก็เป็นธรรมดาของยุคสมัย

เหมือนเมื่อหลายปีก่อน เทพศิริได้แต่งนิทานเรื่อง”เรือกับรั้ว” ด้วยนิทานจินตนาการ เล่าถึงผู้นำสมัย ๒๔๗๕ เพื่อให้รับรู้ว่า “เสรีภาพ” นั้นได้มาอย่างยากลำบากเพียงไร ในรอบ ๙๐ ปี

ในงาน “เสรีแห่งพิราบ” เล่มนี้ ได้วางเส้นทางประวัติศาสตร์ให้เป็นความรู้ ที่เรียกว่า “กาลานุกรม” เช่นที่ท่านเจ้าคุณสมเด็จพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตโต)ได้วางไว้ในหนังสือ “กาลานุกรมพระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก” โดยคุณสันติสุข โสภณสิริ แสดงเส้นทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียด ตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ เมื่อ พุทธศักราช ๒๓๑๐ แก่พม่าข้าศึก จนถึง ณ พ.ศ.นี้ในราชวงศ์จักรี

จาก”เพียงความเคลื่อนไหว” ไปสู่ “เสรีแห่งพิราบ” จะนำพาจินตนาการและความรู้ใน “ขบวนเสรีภาพ” ไปสู่เยาวชนคนหนุ่มสาวในชนบท ด้วยบทกวีแห่งชาติ และงานภาพเขียนแห่งจินตนาการ

ขอให้อ่านนิทานจินตนาการในสมุดบันทึกนิทานฉบับนี้ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ด้วยความรื่นรมย์ ไปกับเด็กๆ


พิภพ ธงไชย

เลขาธิการอาสา

มูลนิธิเด็ก ๑๔ ตุลา. ๒๕๖๕

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้