จากระยะเวลาการทำงานที่ผ่านของโครงการบ้านทานตะวัน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๐ พบว่าเด็กขาดสารอาหารถึงขั้นเสียชีวิตเริ่มลดลง แต่ก็ยังมีเด็กที่ขาดสารอาหาร เพราะครอบครัวเลี้ยงด้วยนมข้นหวานซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กตาบอดเพราะขาดวิตามินเอ ขณะเดียวกันปัญหาอื่น ๆ ของเด็กปฐมวัยมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่เกิดมาจากตัวเด็กเอง เช่น ปัญหาสุขภาพ การเจ็บป่วย และปัญหาที่เด็กได้รับผลกระทบจากครอบครัว เช่นการทอดทิ้งเด็ก, ถูกทำร้ายร่างและจิตใจจากครอบครัวถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ทั้งการดูแลสุขภาพอาหารจึงมักจะพบว่าสาเหตุเหล่านี้นำมาสู่การขาดสารอาหารในเด็กเช่นกัน บ้านทานตะวันจึงเริ่มมีการขยายการทำงานไปสู่กลุ่มเด็กถูกทารุณกรรม, ถูกทอดทิ้ง และกลุ่มปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากไม่มีคนดูแลเด็ก เพราะการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม, ครอบครัวติดเชื้อเอดส์, ครอบครัวติดยาเสพติด, ครอบครัวติดคุก เป็นต้น
ในปี ๒๕๕๐ ถึงปัจจุบัน บ้านทานตะวันได้พัฒนาการทำงานในบ้านพักฟื้นให้พร้อมสำหรับทารกและเด็กเล็กอายุตั้งแต่แรกเกิด - ๔ ปี โดยเน้นการพัฒนาเด็กและพัฒนาครอบครัว (ทางเลือก) โดยบ้านทานตะวันได้รวบรวมแนวทางการพัฒนาเด็กทางเลือกเข้ามาใช้ เช่น มอนเตสเซอรี่ , หลักสูตรการพัฒนาเด็กปฐมวัย, การพัฒนาสมอง, งานโภชนาการ เป็นต้น เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย โดยมีการเพิ่มศักยภาพให้เป็นกระบวนการดูแลเด็กให้มีพัฒนาการในทุกด้าน ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ความคิด ศักยภาพเชิงสังคม และวัฒนธรรมของเด็ก
ด้วยการจัดปรับสภาพแวดล้อมในบ้านทานตะวันให้เป็น “บ้านที่สอง ของทารกและเด็กเล็กด้อยโอกาส” ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี และเอื้อต่อการพัฒนาเด็ก โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางโดยมีผู้ดูแลเด็กด้วยความรัก ความอบอุ่น และเข้าใจพัฒนาการตามวัย ร่วมกับการทำงานพัฒนาครอบครัวของเด็กร่วมกับแนวทางงานสังคมสงเคราะห์ โดยมุ่งให้เด็กได้มีโอกาสกลับเข้าไปอยู่ในครอบครัวและเติบโตในสังคมให้ได้มากที่สุด